การจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมความฉลาดทางดิจิทัล
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในปัจจุบัน สื่อออนไลน์ และอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ เข้าถึงได้ง่ายมาก ส่งผลให้เด็กไทยใช้เวลากับสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างมา สิ่งที่ตามมาทำให้เด็กไทยตกอยู่ในความเสี่ยงภัยจากโลกออนไลน์มากถึง 60 % (สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, 2561)
จึงเป็นเรื่องสำคัญในการปลูกฝังทักษะที่สำคัญในการรับมือกับปัญหาหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ ด้วยการส่งเสริมให้เยาวชนมีทักษะ "ความฉลาดทางดิจิทัล" จุดเริ่มต้นสำคัญคือการดูแลเอาใจใส่ของครอบครัว นอกจากนี้ในการจัดการศึกษายังต้องให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ด้วยเช่นกัน จึงได้มีการสำรวจสภาพทั่วไปในการใช้งานสื่อออนไลน์รวมถึงการจัดการเรียนการสอนทางด้านความฉลาดทางดิจิทัลในโรงเรียน จากผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นครูผู้สอนในระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มต้นเข้าสู่โลกออนไลน์ และหากมองในประเด็นเรื่องหลักสูตรในโรงเรียน วัยดังกล่าวจะได้เรียนรู้กับประเด็นในโลกออนไลน์ครบทุกมุมมอง จึงนำมาสู่ผลการสำรวจ ดังนี้
1. สภาพทั่วไปของนักเรียนที่ท่านเคยพบ ในการใช้งานสื่อออนไลน์/สื่อสังคม
- ความรู้ความเข้าใจที่เหมาะสมในการใช้งานสื่อออนไลน์ อยู่ในระดับน้อย ไม่รู้จรรยาบรรณ หรือข้อกฏหมาย
- ขาดความระมัดระวังในการให้ข้อมูลส่วนตัวของตนเอง
- ขาดการรู้เท่าทันสื่อ ใช้สื่อโดยอย่างไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ขาดความยั้งคิด ไม่ศึกษาข้อมูลก่อนการใช้งาน ขาดวิจารณญาณและตกเป็นเหยื่อของการล่อลวงจากสื่อออนไลน์
- ไม่มีมารยาทในการใช้งาน โพสต์และแชร์ในสิ่งที่ไม่เหมาะสม ใช้คำพูดที่ไม่สุภาพ
- ขาดความรับผิดชอบและใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้สื่อออนไลน์ทำร้ายผู้อื่นด้วยการแชร์ข่าวลวง ส่งต่อและค้นหาข้อมูลหรือเฉลยการบ้านจากโปรแกรมค้นหา
- ไม่รู้จักการแบ่งเวลา ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับสื่อออนไลน์เป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน ส่วนมากใช้เพื่อความบันเทิงและใช้สื่อที่ไม่มีประโยชน์มากเกินไป
- การได้รับข้อมูลด้านเดียวจากอัลกอริทึมของสื่อออนไลน์
- ไม่มีความพร้อมของสัญญาณอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์
2. ปัญหาอื่น ๆ เกี่ยวกับการใช้งานสื่อออนไลน์/สื่อสังคม ของนักเรียนที่ท่านเคยพบ
- ขาดการรู้เท่าทันสื่อ ถูกล่อลวงได้ง่าย
- การส่งต่อข่าวสารที่ไม่เป็นความจริง และขาดความรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่ตนสร้าง
- การแสดงความคิดเห็นโดยใช้อารมณ์รุนแรง ไม่คำนึงถึงผลเสียต่อตนเองในอนาคต
- ใช้เวลากับหน้าจอมากเกินไป เน้นใช้เพื่อความบันเทิง สนุกสนาน ไม่ได้ใช้เพื่อศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง ไม่ใส่ใจในเรื่องอัตลักษณ์ที่ดีของตนเอง
- ขาดวิจารณญาณ ไม่สามารถแยกแยะการกระทำที่ถูกต้อง หรือที่ผิดบนโลกออนไลน์/สื่อสังคมได้
- นักเรียนถูกแฮกเฟซบุ๊ค และถูกนำข้อมูลส่วนไปเผยแพร่ ไม่ได้เกิดจากตั้งรหัสผ่านง่าย แต่บอกรหัสผ่านเพราะความไว้เนื้อเชื้อใจ
- ปัญหาการเลียนแบบคำพูดและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจากสื่ออนไลน์ มีพฤติกรรมกร้าวร้าวขึ้น
- ไม่ค่อยระมัดระวังในการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวในการโพสต์เนื้อหาต่าง ๆ ในสื่อสังคม โพสต์ภาพหรือข้อความไม่เหมาะสมกับวัย เช่น ภาพที่ไม่เหมาะสม หรือ คำไม่สุภาพกับเพื่อน ๆ การสื่อสาร การบ่น หรือการโพสค์ความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งมีผลกระทบ คือ ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของหน่วยงาน หรือองค์กร
- เข้าถึงสื่อที่ไม่เหมาะสมได้ง่าย
3. สื่อที่ใช้ในการสอนเรื่องความฉลาดทางดิจิทัล
สื่อการเรียนรู้ที่ใช้ส่วนใหญ่ คือ หนังสือเรียน คลิปวิดีโอ และเว็บไซต์ ดังภาพด้านล่าง
ซึ่งพบปัญหาคือ สื่อดังกล่าวยังไม่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนและยังไม่สร้างแรงจูงใจให้กับนักเรียน เป็นสื่อที่มีการสื่อสารทางเดียว ยังไม่สามารถวัดความรู้ความเข้าใจของผู้เรียนได้ สื่อที่มีการนำมาใช้มากที่สุดและปัญหาที่พบมีดังนี้
1) หนังสือเรียน เนื้อหาที่ยกตัวอย่างไม่ทันสมัย บางคนอ่านไม่ออกหรืออ่านไม่คล่อง ผู้เรียนขาดการอ่าน วิเคราะห์นักเรียนไม่ชอบอ่านหนังสือ สนใจการรับรู้จากคลิปวิดีโอมากกว่า
2) คลิปวิดีโอ เนื้อหาที่ตรงตามหัวข้อที่ต้องการมีน้อย ผู้เรียน ดูเพื่อความสนุกสนาน มากกว่า การนำไปใช้ประโยชน์ ขาดความน่าสนใจ
3) เว็บไซต์ เนื้อหาบางเว็บไซต์มีความแตกต่างกัน ต้องหาแหล่งอ้างอิงข้อมูล ใช้เวลาในการค้นคว้าน้อยไปและยังมีเนื้อหาสาระไม่ครบถ้วน
นอกจากนี้ ทางด้านรูปแบบการจัดการเรียนการสอน ยังพบปัญหาเช่นกันเกี่ยวกับรูปแบบที่ยังไม่ส่งเสริมต่อการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียน ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของการจัดการเรียนรู้เรื่องความฉลาดทางดิจิทัลนั้นที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียน "ทำได้" มากกว่า "จำได้" นั่นเอง
วชิรพรรณ ทองวิจิตร
21 พฤศจิกายน 2565
Comments
Post a Comment